ปีนั้นคือปี ค.ศ. 1895
ผู้คนในอาณาจักรต้าชิง โดยเฉพาะในผู้ที่ติดตามข่าวสารสักหน่อย ล้วนอดไม่ได้ที่จะเสวนาปัญหาความเป็นไปของชาติบ้านเมือง ปีนั้นจีนแพ้สงครามต่อญี่ปุ่น จำยอมลงนามในสนธิสัญญาหม่า-กวน (Maguan Treaty 马关条约 หรือ Treaty of Shimonoseki) ต้าชิงต้องยกไต้หวันให้ญี่ปุ่น ชดใช้ค่าปฏิมากรรมสงคราม 200 ล้านตำลึง และยกเลิกสถานะประเทศในอาณัติของอาณาจักรโชซอน กระนั้น สิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจคนจีนยิ่งกว่า คือความแค่นแค้นที่คุกรุ่นอยู่ภายใน ต่อความไร้ความสามารถของผู้ปกครอง... และการพัฒนาที่ไม่ทันการณ์ของชาติบ้านเมือง...
![]() |
ภาพ การเจรจาระหว่างผู้แทนของต้าชิง นำโดยมหาอำมาตย์หลี่ หงจาง กับผู้แทนญี่ปุ่น นำโดยนายกรัฐมนตรี Itō Hirobumi ที่เมือง Shimonoseki ประเทศญี่ปุ่น |
ผืนแผ่นดินและชนชาติจีนจะอยู่รอดหรือไม่ จีนจะยังรวมเป็นปึกแผ่นหรือแตกเป็นเสี่ยง ๆ ตามแต่อำเภอใจของผู้รุกราน ?
ดูเหมือนจะมีแต่คำถาม หากแต่ใครเล่าจะมีคำตอบ… มองตาแล้วส่ายหน้า แลดูสิ้นหวัง
ที่หมู่บ้านชุ่ย-เฮิง (Cuiheng 翠亨) เมืองเซียงซาน มณฑลกวางตุ้ง (ปัจจุบัน ชื่อเมืองจงซาน) ความถดถอยของชาติบ้านเมือง ทำให้เด็กหนุ่ม 2 คนพลุ่งพล่านในใจ “ซุน-เหวิน (Sun Wen 孙文)” ปีนั้นอายุ 29 ปี ก่อนหน้านี้ เขาเดินทางไปยังเกาะฮ่องกงและฮาวาย ได้ประจักษ์ถึงความศิวิไลซ์ แต่เมื่อภาพตัดกลับไปยังความล้าหลังของบ้านเกิดเมืองนอน เขาอดไม่ได้ที่จะสะทกสะท้อนในใจ
“คนนอกสามารถประสบความสำเร็จในการพัฒนาเกาะร้างแห่งนี้ได้ภายใน 70 - 80 ปี ย้อนมองประเทศจีน ซึ่งมีอารยธรรมสี่พันปี กลับไม่มีที่ใดที่จะทัดเทียมฮ่องกงได้ สาเหตุอยู่ที่ใด ?”
“外人能在七、八十年间在一荒岛成此伟绩,中国以四千年之文明,乃无一地如香港者,其故安在?”
ซุนเหวิน, ฮ่องกง 1923
ซุน-เหวิน รวบรวมสมัครพรรคพวกและจัดตั้งภายใต้ชื่อสมาคมซิง-จง-ฮุ่ย (Xingzhonghui 兴中会) เคลื่อนไหวที่ฮ่องกงและกวางตุ้ง ด้วยหวังที่จะฟื้นฟูศักดิ์ศรีของแผ่นดินและชนชาติของเขา ให้พ้นจากการเป็นคนป่วยแห่งบูรพาทิศ !
ลู่-เฮ่า-ตง (Lu Haodong 陆皓东) เพื่อนในวัยเยาว์ของซุน เป็นอีกหนึ่งคนที่ตั้งคำถามกับความเป็นไปของบ้านเมือง บรรพบุรุษของลู่มาจากหมู่บ้านชุ่ยเฮิง แต่เขาเกิดที่เมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1867 เนื่องจากพ่อของเขาดำเนินธุรกิจที่นั่น ต่อมา เมื่ออายุ 16 ปี เขากลับมาที่หมู่บ้านชุ่ยเฮิงและได้พบกับซุน ซึ่งเพิ่งกลับมาจากฮาวาย ด้วยวัยที่ใกล้เคียงกัน ทั้งสองคุยกันถูกคอและลู่ก็ตื่นตาตื่นใจกับประสบการณ์และความคิดใหม่ๆ ของซุนที่ได้จากการเดินทาง
![]() |
ภาพ ลู่-เฮ่า-ตง ในวัย 12 ปี |
ทั้งสองคนทนไม่ได้ที่เห็นคนในหมู่บ้านมีความเชื่อที่ล้าหลัง จึงได้ทำการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า จนกลายเป็นคนในหมู่บ้านที่ทนสองหนุ่มหัวก้าวหน้านี้ไม่ได้ ทั้งสองคนจึงแยกย้ายกันเดินทางออกจากหมู่บ้าน ซุนเดินทางไปฮ่องกง และลู่กลับไปเซี่ยงไฮ้เพื่อศึกษาต่อและทำงานอยู่ที่นั่น
เมื่อเขาอายุ 23 เขาตัดสินใจลาออกจากงานและเดินทางกลับชุ่ยเฮิง โชคชะตานำพาให้เขาพบกับซุนอีกครั้ง และครั้งนี้ พวกเขาไม่เพียงจะท้าทายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน แต่เขากำลังคิดที่จะท้าทายรัฏฐาธิปัตย์--ต้าชิง !
ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1894 ซุนและลู่ร่วมกันเขียนบทความถึงหลี่-หง-จาง เสนาบดีต้าชิง เพื่อเสนอแนวคิดปฏิรูปเพื่อพัฒนาประเทศ พวกเขาออกเดินทางไปเมืองเทียนจิน เพื่อขอพบหลี่ อย่างไรก็ดี หลี่ไม่ให้ราคากับสองหนุ่มผู้นี้ ซุนและลู่เดินทางกลับชุ่ยเฮิง ครั้งนี้ เขากลับมาด้วยใจอันแน่วแน่ว่า มีแต่แนวทางปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น ที่จะแก้ไขปัญหาประเทศได้
“สิ่งสำคัญในวันนี้ หากไม่ล้มล้างพวกชิง-แมนจู ก็ไม่อาจฟื้นฟูชนชาติฮั่น หากไม่กำจัดพวกชาวฮั่นที่ทรยศ ก็ไม่อาจล้มล้างพวกชิง-แมนจูได้ พวกข้าจึงอยากที่จะสังหารพวกขุนนางสุนัขรับใช้ เพื่อส่งเสียงเตือนดัง ๆ ให้พวกเราชาวฮั่นรับรู้
要之今日,非废灭满清,决不足光复汉族,非除汉奸,又决不足以戮灭满清,故吾等尤欲诛一二狗官,以为我汉人当头一棒。”
ลู่-เฮ่า-ตง, กว่างโจว 1895
พวกเขาจัดตั้ง "บริษัทหม่อนไหม" ที่เมืองซุ่นเต๋อ และ "สมาคมเกษตร" ที่เมืองกว่างโจวขึ้นเพื่อบังหน้า เบื้องหลังคือสมาคมซิง-จง-ฮุ่ย ภายใต้การนำของซุน ลู่นำทรัพย์สินที่บ้านไปขายเพื่อสะสมทุนทรัพย์เพื่อการปฏิวัติ พวกเขารวบรวมสมัครพรรคพวกผู้รักชาติ ทั้งคนในรัฐบาลและกลุ่มสมาคมต่างๆ ทั่วมณฑลกวางตุ้ง ลู่ช่วยเหลือซุนประสานงาน ซ่องสุมอาวุธ และจัดตั้งกองกำลังใต้ดิน
ต้นเดือนตุลาคม 1895 พวกเขาประชุมวางแผนก่อการยึดเมืองกว่างโจว ซุนและลู่ จะบัญชาการอยู่ที่เมืองกว่างโจว ขณะที่สหายของเขา ได้แก่ หยาง-ฉวี-อวิ๋น (Yang Quyun 杨衢云) หวง-หย่ง-ซาง (Huang Yongshang 黄咏商) จะรวบรวมกำลังคนที่ฮ่องกง ทั้งหมดจะลงมือก่อการในวันเทศกาลฉงหยาง (Chongyang 重阳节) หรือ 9 เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 ตุลาคม 1985
ตามธรรมเนียมจีน ผู้คนจะเดินทางไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลฉงหยาง จึงสะดวกที่กำลังคนจากฮ่องกงจะเดินทางเข้ามายังกว่างโจว
ในการเตรียมก่อการครั้งนี้ ลู่ได้วาดสัญลักษณ์ขององค์กร นั่นคือ “ธงฟ้าคราม-ตะวันขาว (青天白日旗)” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ ซึ่งยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของธงไต้หวันและพรรคก๊กมินตั๋งจนถึงทุกวันนี้ !
![]() |
ภาพ ลู่-เฮ่า-ตง ออกแบบธงฟ้าคราม-ตะวันสาดแสง |
ทว่า เช้าวันก่อการ ซุนได้รับแจ้งจากฮ่องกงว่า กองกำลังที่นัดแนะว่าจะเคลื่อนย้ายมาจากฮ่องกงไม่สามารถมาตามนัด และอาวุธปืน 600 กว่ากระบอกถูกริบที่ศุลกากร ราชสำนักไหวตัวทันและส่งกองกำลังออกไล่ล่าผู้ก่อการ ทั้งซุนและลู่ต่างแยกย้ายหลบหนีการจับกุม !
ระหว่างหลบหนี ลู่นึกขึ้นได้ว่ารายชื่อผู้ก่อการอาจยังเก็บไว้ที่ "สมาคมเกษตร" ที่ทำการของซิง-จง-ฮุ่ย ซึ่งอยู่กลางเมืองกว่างโจว เขาจะกลับไปเพื่อเผาทำลายรายชื่อนั้น ภารกิจนี้อันตรายอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ผู้ร่วมก่อการต่างห้ามปรามไม่ให้ลู่เดินทางกลับไป แต่ลู่ยังคงยืนยันว่า รายชื่อดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของซิง-จง-ฮุ่ย เขาตัดสินใจเดินทางกลับไป
เมื่อเดินทางถึง "สมาคมเกษตร" ลู่จัดการเผาทำลายหลักฐานรายชื่อผู้ก่อการ เขายิ้มอย่างโล่งใจ อนิจจา! มีผู้แปรพักตร์และแจ้งทางการทราบ ทหารต้าชิงเดินทางมาถึง ณ ที่ทำการนั้นเอง เขาถูกล้อมจับกุม
ลู่ถูกนำขึ้นศาล ทรมานด้วยวิธีการสารพัด เพื่อให้เปิดเผยชื่อผู้ร่วมก่อการ แม้ร่างกายจะบอบช้ำและเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส แต่หัวใจเขาทำด้วยศิลา ลู่ขอพู่กัน น้ำหมึกและกระดาษ นี่ไม่ใช่คำรับสารภาพใด ๆ สิ่งที่เขาเขียนคือความคับแค้นใจต่อราชวงศ์ชิงที่เหลวแหลก และความมุ่งมั่นที่จะติดตามซุนเพื่อปฏิวัติจีน เขาลงท้ายว่า...
“การวันนี้แม้ไม่สำเร็จ แต่ใจนี้ก็พึงประโลมแล้ว แม้ประหารก็ได้แต่เพียงเราหนึ่ง หากแต่จะประหารคนที่จะลุกฮือต่อจากเราทั้งหมดหาได้ไม่
今事虽不成,此心甚慰。但一我可杀,而继我而起者而不可尽杀。”
ลู่-เฮ่า-ตง, กว่างโจว 1895
ซุนทราบข่าวว่าลู่ถูกจับกุม และได้พยายามหาช่องทางช่วยเหลือ ทั้งจากสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่เมืองกว่างโจวและบริษัทที่ลู่เคยทำงานที่เซี่ยงไฮ้ เพื่ออ้างว่า ลู่เป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง ไม่ได้มีความคิดปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม เล่ากันว่าเมื่อกงสุลสหรัฐฯ เดินทางถึงศาล ก็ต้องจำนนหนทาง เพราะลู่ได้เขียนความคับแค้นใจข้างต้น และประกาศตนแล้วว่า ตนคือนักปฏิวัติที่จะโค่นราชวงศ์ชิง !
นายอำเภอหนานไห่ ผู้เบิกความไต่สวนลู่ เห็นท่าว่า ลู่ไม่มีทางยอมจำนน ใจหนึ่งก็เกรี้ยวโกรธาในความโอหังของลู่ ใจหนึ่งก็ทอดถอนเสียดายในความกล้าหาญของชายหนุ่มผู้นี้ หลังจากถูกจับกุมกว่า 10 วัน วาระสุดท้ายก็มาถึง ลู่ถูกประหารเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ในวันประหารนั้น นายอำเภอหนานไห่ได้ให้ผู้คุมเปลี่ยนชุดของลู่เป็นชุดปัญญาชนจีนเพื่อให้เกียรติ
![]() |
ภาพ สุสานของลู่-เฮ่า-ตง ที่หมู่บ้านชุ่ย-เฮิง เมืองจงซาน มณฑลกวางตุ้ง |
ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐจีน รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้มอบเงิน 200 ต้าหยางทุกเดือน ให้กับลูกหลานของลู่ตั้งแต่ปี 1927 จนกระทั่งปี 1937 สงครามกับญี่ปุ่นประทุขึ้น จึงหยุดลง และในปี 1937 ชาวหมู่บ้านชุ่ยเฮิง ได้สร้างสุสานที่ฝังเสื้อผ้าของลู่ ซึ่งยังคงตระหง่านอยู่ที่หมู่บ้านชุ่ยเฮิงจนถึงทุกวันนี้
มองย้อนกลับไป ซุน-เหวิน หรือที่คนไทยรู้จักในนาม "ซุน ยัตเซ็น" รำลึกถึงลู่ว่า เขาคือ ผู้พลีชีพเพื่อการปฏิวัติตามแนวคิดสาธารณรัฐคนแรกของประวัติศาสตร์จีน (中国有史以来为共和革命而牺牲者之第一人) !
อ้างอิงข้อมูลรูปภาพ:我之革命思想发源地为香港
http://www.sunyat-sen.org/index.php?m=content&c=index&a=show&catid=46&id=6756
陆皓东
http://www.xhgmw.com/m/view.php?aid=18187
陆皓东史料数据库
http://xsmr.sunyat-sen.org/index.php?m=content&c=index&a=lists&catid=328
陆皓东、杨殷纪念展示区
http://xsmr.sunyat-sen.org/index.php?m=content&c=index&a=lists&catid=19
陸皓東----為共和革命犧牲者之第一人
http://lus.hk/forum.php?mod=viewthread&tid=2117
陆皓东:中国有史以来为共和革命牺牲者之第一人
http://www.zs.gov.cn/zjzs/zsmr/content/post_220050.html
陆皓东
https://zh.wikipedia.org/zh-hans/%E9%99%86%E7%9A%93%E4%B8%9C#cite_note-n-5
https://baike.baidu.com/item/%E9%99%86%E7%9A%93%E4%B8%9C/222004#ref_2_20024566
马关条约120年:腐败致耻辱 警惕日本备战钓岛挑衅
https://mil.sina.cn/zgjq/2015-04-17/detail-iavxeafs5662523.d.html
陆皓东:为共和革命牺牲的第一人,设计青天白日旗的孙中山发小
https://zhuanlan.zhihu.com/p/301486063
陆皓东墓图片
https://baike.baidu.com/pic/%E9%99%86%E7%9A%93%E4%B8%9C%E5%A2%93/2036234/0/bd7faf357f5bcca4a71e1275?fr=lemma&fromModule=lemma_content-image&ct=single#aid=0&pic=bd7faf357f5bcca4a71e1275